ต้นเมษายน 2550 ผมได้มีโอกาสไปโตเกียวอีกรอบด้วยเหตุผลทางครอบครัว เนื่องจากลูกชายอยากไปใช้ชีวิตช่วงปิดเทอมรับใช้ศาสนา ในฐานะลูกศิษย์วัดของวัดไทยในญี่ปุ่น
ช่างโชคดีที่จังหวะและโอกาสอำนวย เป็นจังหวะที่โตเกียวตรงกับหน้าซากุระบาน ซึ่งหนึ่งปีจะมีช่วงเวลาให้เห็นได้ประมาณ 7-10 วัน ปีนี้ค่อนข้างบานเร็วกว่าปีก่อนๆ โดยคนในโตเกียวให้เหตุผลว่าปีนี้หน้าหนาวหนาวน้อยกว่าปีที่ผ่านมาเลยให้ทำให้ซากุระบานเร็ว ใครที่ตีตั๋วทัวร์ว่าจะไปดูช่วงต้นหรือกลางเมษา ก็อาจจะผิดคิว ในขณะที่ผมไม่มีคิวจะไปดู แต่กลับโชคดีอย่างยิ่งที่ได้เห็น
ซากุระ (Sakura หรือ Cherry Blossom) เป็นดอกไม้ประจำชาติของญี่ปุ่น สีขาวอมชมพู ความสวยงามที่เห็นคือ ยามผลิดอก ก็ออกบานให้เห็นชมพูขาวสะพรั่งเต็มต้น ไม่มีสีเขียวของใบไม้สอดแทรกให้เห็น เมื่อยามร่วง ก็ร่วงพร้อมกันหมดต้น ดังนั้นคนที่จะเห็นซากุระบาน ก็จะเห็นต้นไม้ที่มีแต่ดอกสวยงามเต็มต้น หรือคนที่ไปไม่ทันช่วงเวลาผลิบาน ก็จะเห็นเหลือเพียงลำต้นและกิ่งก้านก่อนที่จะผลิใบใหม่เท่านั้น ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้ จึงมีผู้เปรียบเปรยว่า ทหารญี่ปุ่นนักรบเลือดซามูไร มีความกล้าหาญ กล้าร่วงกล้าตายพร้อมกันเหมือนดอกซากุระ
ช่วงดอกซากุระบาน จะเป็นช่วงแห่งความสุขของคนญี่ปุ่น คนนับหมื่นจะหอบลูกจูงหลานมาเดินเล่นกันในสวนสาธารณะ เรียกว่าเป็นเทศกาลฮานามิ (Hanami) หรือแปลเป็นไทยว่าเทศกาลรื่นรมย์ชมดอกไม้ (Flower viewing festival) ความสุขที่สุดคือมานั่งทานข้าว หรือทานกับแกล้มสาเกกันในหมู่ญาติหรือมิตรสหายใต้ต้นซากุระที่บานสะพรั่งนับพันต้นในสวนสาธารณะซึ่งมีทั่วไปในญี่ปุ่นแทบจะในทุกเมืองสำคัญ และหากมีกลีบดอกเล็กๆร่วงลงมาใส่จอกสาเกสักกลีบ นั่นคือความสุขสุดยอดที่จะมีได้ในชีวิตของแต่ละปี
สวนสาธารณะที่ผมไปดู ชื่อสวนอูเอโนะ (Ueno) อยู่ทางตอนเหนือของกรุงโตเกียว เป็นชุมทางรถไฟไปภาคเหนือของญี่ปุ่น หากจะเปรียบกับไทยก็คงคล้ายสวนจตุจักรที่เป็นที่พักผ่อนของคนกรุงเทพในด้านเหนือนั่นเอง วันที่ไปก็ไม่ใช่เสาร์-อาทิตย์แต่เป็นวันธรรมดา แต่บรรยากาศกลับคลาคล่ำด้วยฝูงชนนับหมื่น ตั้งแต่อายุสักหนึ่งขวบจนจวบร้อยปี ทุกคนเดินเข้ามาด้วยความกระตือรือร้น ยิ้มแย้มอย่างมีความสุข หอบลูกจูงหลาน คนที่มีอาหารการกินก็ปูเสื่อหาที่ทางใต้ต้นซากุระนั่งปิกนิกเฮฮาให้เห็นกันอย่างน่าอิจฉา ผมเห็นคนหนุ่มกลุ่มหนึ่งพร้อมที่นอนผ้าห่ม ดูจะมานอนเอาบรรยากาศกันตั้งแต่เมื่อวาน เมื่อเห็นคนมีความสุข ใจเราก็มีความสุขตามไปด้วย
ความสวยงามของดอกซากุระเป็นสีสันที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพราะไม่ใช่เพียงต้นสองต้น ไม่ใช่ร้อยต้น แต่เป็นพันๆต้นในหนึ่งสวนสาธารณะ เป็นหมื่นเป็นแสนต้นทั่วเกาะญี่ปุ่น และเบ่งบานให้เห็นสวยงามพร้อมกันอย่างเหลือเชื่อ แต่ความอัศจรรย์ใจที่ยิ่งกว่านั้น คือ วินัยของผู้คนที่มาพักผ่อนในสวนสาธารณะ ที่ช่วยกันรักษาสาธารณะสมบัติ ไม่พบรอยขีดรอยเขียนประกาศศักดาเช่นที่เราพบในไทย ช่วยกันเก็บกวาดรักษาความสะอาดหลังจากนั่งดื่มกิน เก็บขยะและแยกขยะตามประเภทเพื่อความสะดวกในการกำจัดหรือนำไปแปรรูป และที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ไม่มีใครสักคนที่เอื้อมมือไปเก็บดอกซากุระเพื่อเอาไปชื่นชมคนเดียว หรือนำไปฝากคนทางบ้าน
ผมเห็นคนญี่ปุ่น ใช้กล้องดิจิตอลที่พกพามา หามุมบันทึกดอกซากุระบางช่อที่อยู่ใกล้มืออย่างระมัดระวัง กลัวแม้กระทั่งหน้าเลนส์จะไปกระทบกลีบดอก ระมัดระวังแม้กระทั่งลมหายใจจะไปก่อความรำคาญให้ดอกซากุระ ผมคุยกับเด็กที่ไปด้วยว่า หากเป็นเมืองไทยอย่าว่าดอกใกล้มือเลย ถึงเป็นดอกที่อยู่บนต้นสุดที่มือไขว่ถึง พี่แกก็คงปีนป่ายขึ้นไปเด็ดเพื่อเอามาเป็นเจ้าของ หรือขอเอาไปฝากให้คนทางบ้านดูสักดอกสองดอกเป็นแน่ ดูอย่างงานพืชสวนโลกที่เชียงใหม่ไง มีข่าวรายงานความเสียหายให้ฟังได้ทุกวัน
มหัศจรรย์แห่งผู้คนญี่ปุ่น คือ ความมีวินัย การเห็นประโยชน์ส่วนรวม และความเอาจริงเอาจังในการทำให้เกิดความสำเร็จตามสิ่งที่มุ่งมั่นปรารถนา
ผมเดินอยู่ในสวนประมาณสองชั่วโมง พิสูจน์ได้ว่าความเชื่อที่ผมคิดเป็นจริง เพราะทุกคนชื่นชมกับดอกซากุระที่อยู่บนต้น ไม่คิดครอบครองเป็นของส่วนตัว แถมยังทะนุถนอมอย่างที่สุด เพื่อประโยชน์และส่งมอบความสุขให้แก่คนที่จะมาชมในวันถัดไป
มาถึงจุดนี้ ผมจึงถึงบางอ้อว่า หลักการของการควบคุมคุณภาพทั่วทั้งองค์การ (TQM : Total Quality Management) ที่ญี่ปุ่นเอาไปใช้อย่างจริงจังในการผลิตจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในแวดวงอุตสาหกรรมและเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ก็มีพื้นฐานมาจากนิสัยใจคอของผู้คนญี่ปุ่นนี่เอง
หลัก TQM ข้อหนึ่งบอกว่า ต้องให้ความสำคัญต่อการบริการลูกค้า (Customer Service) ทั้งนอกและในองค์การ โดยลูกค้าในองค์การหมายถึงคนที่รับงานต่อเนื่องจากงานที่เราทำ การบริการที่ดีจึงหมายถึงการส่งมอบงานที่ดีที่ทำเสร็จให้แก่เพื่อนร่วมงานในสายการผลิต หรือในขั้นตอนการทำงานที่ต่อจากเราด้วย
เมื่อเรามอบสิ่งที่ดีให้เพื่อน เพื่อนมอบสิ่งที่ดีให้เรา ทุกคนมอบสิ่งที่ดีให้กันและกัน ทุกสิ่งทุกอย่างในองค์การในสังคมก็จะเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นความสำเร็จ เป็นคุณภาพอย่างปราศจากข้อกังขา
ต้นซากุระ ปลูกในบ้านเราไม่ได้ เพราะภูมิอากาศแตกต่างกัน
แต่ผมเชื่อว่า เราสามารถร่วมกันปลูกต้นไม้นี้ได้ในใจคน
(เมษายน 2550)
งานเขียนเล็กๆชิ้นนี้ เขียนไว้เมือเมษายน 2550 ตอนที่ไปโตเกียวยามซากุระบานสะพรั่ง จึงถ่ายทอดความรู้สึกปลื้มปิติที่มีต่อธรรมชาติและผู้คน มาไว้ในบทความสั้นๆนี้