การวัดผลองค์การแบบสมดุล หรือ Balanced Scorecard เป็นแนวคิดด้านการบริหารสมัยใหม่ ที่มุ่งวัดความสำเร็จในการดำเนินงานองค์การ โดยให้เกิดความสมดุลระหว่างวัตถุประสงค์ระยะสั้น และผลระยะยาวที่จะเกิดขึ้น เป็นการคำนึงถึงทั้งปัจจัยที่เป็นทั้งเหตุ และ ปัจจัยที่เป็นผล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์การทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
การวัดผลสมัยใหม่นี้ จะให้ความสำคัญแก่มิติต่างๆ 4 มิติ คือ ด้านการเงิน ด้านลูกค้า ด้านกระบวนการ และด้านการเรียนรู้และพัฒนา โดยมองว่ามิติของการประเมินทั้งสีด้านนี้ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในเชิงเหตุผล มีส่วนหนุนช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยเริ่มจากถ้าคนในองค์การมีการเรียนรู้พัฒนา ก็มีส่วนช่วยให้เกิดระบบงานที่ดีมีประสิทธิภาพ หากระบบงานดี ก็เป็นเหตุให้ลูกค้าพอใจ เมื่อลูกค้าพอใจ ผลกำไรทางการเงินก็ตามมาภายหลัง
แนวคิดการวัดผลแบบสมดุล ถูกนำไปในใช้ในองค์การต่างๆทั่วโลก ทั้งในภาคเอกชน และภาครัฐ และยังถูกใช้เป็นกรอบในการกำหนดกลยุทธ์ขององค์การอีกด้วย
เรื่องความสมดุลของไอน์สไตน์ กับ มารีลิน มอนโรว์
ไอน์สไตน์ อัจฉริยะบุคคลที่ฉลาดที่สุดในโลก โคจรมาพบกับ มารีลิน มอนโรว์ สาวสวยเซ็กซี่ที่เป็นหมายปองของคนทั่วโลกในงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์ ถือเป็นการพบปะครั้งสำคัญของสองคนดังระดับโลก ที่สมน้ำสมเนื้อ สมดุลกัน
พอเห็นไอน์สไตน์ มารีลินเดินเกร่เข้าไปหา ส่งสายตาหยาดเยิ้ม พร้อมทักทายด้วยริมฝีปากที่สลายหัวใจชายหนุ่มทั่วโลก “ไอน์สไตน์ แต่งงานกับฉันไหม”
ด้วยความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งทุกอย่างต้องมีเหตุผล ไอน์ถามกลับ “ทำไมล่ะ มีเหตุผลใดล่ะ ที่ฉันควรแต่งงานกับเธอ”
“คิดดูซี่ เราสองคนต่างเป็นสุดยอดของโลก เธอฉลาดที่สุด ฉันสวยที่สุด หากเราแต่งงานกัน ก็จะเป็นความสมดุล ลูกของเราจะฉลาดที่สุดเหมือนเธอ และสวยที่สุดเหมือนฉัน” มารีลีน ให้เหตุผล
“ไม่” ไอน์สไตน์ สร้างความผิดหวัง
“ทำไมล่ะ ทำไมไม่อยากแต่งงานกับฉัน” มารีลิน อยากรู้เหตุผล
ไอน์สไตน์ ตอบแบบไม่ต้องคิด “มันก็ดีอยู่หรอกว่า หากเราแต่งงานกันแล้วลูกจะฉลาดเหมือนฉันและสวยเหมือนเธอ แต่ ฉันกลัวว่า หากเราแต่งงานกันแล้ว ลูกจะขี้เหร่เหมือนฉัน และก้อ…สติปัญญา….เหมือนเธอ”
ความสมดุลในจินตนาการ ของไอน์สไตน์ จึงเป็นคนละเรื่องกับ ความสมดุลในจินตนาการของมารีลิน มอนโรว์