About

The Teenage Psychic

วัยรุ่นทรงเจ้า (The Teenage Psychic)
“ฉันชื่อ เซี่ยหย่าเจิน อายุ 16 ปี แหละนี่คือชีวิตของฉัน”

เมื่อ HBO Asia (Home Box Office) ประกาศสร้างซีรีย์สัญชาติไต้หวัน The Teenage Psychic แล้วเอาตัวอย่างมาฉาย ก็ยังดูเฉยๆไม่จูงใจอะไรให้เข้าไปดูนัก ยังนึกอยู่ว่าคงเป็นวัยรุ่นคลายเครียดธรรมดาๆที่จับเอาตัวเอกที่เป็นเด็กมีความสามารถพิเศษเหนือมนุษย์ ไม่เห็นน่าจะมีอะไรให้เสียเวลาดู

พอมาทราบว่า ซีรีย์ดังกล่าวได้รางวัลชนะเลิศ Best Miniseries ของการประกวด Golden Bell Award ครั้งที่ 52 และได้รับรางวัลชนะเลิศ ผู้แสดงสนับสนุนหญิงยอดเยี่ยมอีกรางวัลหนึ่งด้วย จึงอยากเข้าไปดูสักตอนว่าน่าสนใจอย่างไร

ซีซันแรก ของมินิซีรีย์ดังกล่าว มี 6 ตอนๆละประมาณ 50 นาที ตัวเอกของเรื่อง เซี่ยหย่าเจิน หรือ เสียวเจิ้น เป็นเด็กหญิงวัย 16 ปี หน้าตาทรงผมแบบทอมๆ มาโรงเรียนสายเป็นประจำ กลางวันหลับในห้องเรียน เพราะกลางคืนต้องไปเป็นเจ้าแม่น้อยทรงเจ้าในศาลเจ้า ติดต่อกับวิญญาณและปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย กลายเป็นตัวเดินเรื่องที่น่าสนใจ เป็นวัยรุ่นที่อยากมีเพื่อน อยากมีเวลาส่วนตัวบ้าง อยากมีคนรัก แต่ต้องมาแบกโลกแก้ไขปัญหาสารพัดของผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ของคนที่ไม่มีทางออกด้วยวิธีปกติต้องหันมาพึ่งพาความเชื่อในเรื่องทรงเจ้า ไปจนถึงปัญหาภาระหนี้สินของศาลเจ้าที่หากขาดเจ้าแม่น้อยเป็นตัวหลักในการทรง อาจถึงขั้นต้องถูกปิดกิจการจากมาเฟียในพื้นที่

การเขียนบทผูกเรื่อง คลี่คลายปมและค่อยๆเสริมเติมตัวละครเข้ามาในแต่ละฉากแต่ละตอน ดูประณีตงดงาม และสอดรับ พร้อมทั้งสอดแทรกปรัชญาวิธีการคิดการดำรงชีวิตที่ดีตามความเชื่อแบบตะวันออกมากมาย ตัวละครที่โผล่มาในตอนหนึ่งแล้วจบไป ก็กลับมาโผล่ได้ในตอนอื่นๆ จนเหมือนเป็นภาพเชื่อมต่อเป็นภาพเดียวตลอดซีซันแรก

เมื่อดู Episodeแต่ละตอนจบ จึงเหมือนตัวเร่งเร้าให้รีบดู Ep. ต่อๆไปอย่างกระหาย และเชื่อว่าหลายคนที่ดูคงเหมือนผมที่จะเพลิดเพลินดูต่อเนื่องจากตอนที่ 1 ถึง 5 โดยแทบจะไม่พัก แต่จะหยุดและทำใจอยู่นานว่า จะกล้าดูตอนที่ 6 ซึ่งเป็นตอนจบของซีซันนี้ต่อหรือไม่

นักร้อง Alice ที่มีพฤติกรรมซึมเศร้าของตัวเองและเป็นแกนเรื่องใน Ep.1 ต้องอาศัยเจ้าแม่น้อยทรงเจ้าช่วยให้คืนมาเป็นคนร่าเริงเหมือนเดิม กลับมาแสดงความสามารถในร้องเพลงประกอบกีตาร์โปร่งในตอนท้ายของ Ep.5 ด้วยกับการตัดสลับฉากเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้คนดูรู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับหนัง ที่เป็นจุดพีคสุดของเรื่องในตอนจบของ Ep.5 จนไม่กล้าที่จะเปิดดู Ep.6 ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย

เหมือนเสียดายว่าหนังจะจบ เหมือนกลัวว่าสิ่งที่หนังปูเรื่องไว้จะเป็นจริง เหมือนกับกลัวความสุขที่ได้รับจาก 5 ตอนแรกจะสูญสลาย เหมือนกับทำใจไม่ได้ว่าจะมีวันรุ่งขึ้น ทุกคนที่ดูคงรู้สึกเช่นนี้

ผมทอดเวลาไปสองวัน จึงตัดสินใจดูต่อใน Ep.6 และต้องบอกว่า สมแล้วที่ได้รับรางวัลชนะเลิศมินิซีรีย์ แม้ตัวเอกเสียวเจิ้น (แสดงโดย เหยา เหยา) จะถูกเสนอชื่อแต่พลาดรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม โดยกลับได้รางวัลนักแสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยมที่ก็แสดงได้อย่างเหมาะสมแล้วคือ ตัว Alice ที่โผล่มาในตอนแรกและตอนที่ 5 ที่เป็นไฮไลท์ของเรื่อง

หนังเรื่องนี้ จึงเป็นหนังที่อยากจะแนะนำให้หามาดู ดูจบ Ep.5 และกล้าๆหน่อยที่จะเปิด Ep.6 ครับ

หนังสอนให้เราต้องกล้าเผชิญกับความเป็นจริง ไม่ว่าจะดีหรือจะเลวร้ายอย่างไร เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องกล้าเจอมันและทำให้ดีที่สุด

AI. Model จัดการด้วยปัญญาที่ไม่ใช่ ปัญญาประดิษฐ์

เปล่าครับ ผมไม่ได้พูดถึง AI. (เอไอ) ที่ย่อมาจาก Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่คอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์มีสมองคิดสั่งการแก้ไขปัญหาจากโปรแกรมการเรียนรู้ที่สั่งสมจนแทบทำงานทดแทนหรือดีกว่ามนุษย์ได้ แต่ผมกำลังกล่าวถึงตัวแบบในการตัดสินของผู้บริหารที่ชื่อว่า AI. Model หรือ ย่อจาก Appreciative Inquiry หรือ การใช้จิตวิทยาเชิงบวกเพื่อการสนทนาหาคำตอบอย่างสร้างสรรค์

Appreciative หมายถึงการชื่นชม หรือการมองผู้อื่นในทางบวก เห็นข้อดีของคนอื่น เวลาเรา appreciate ใคร เราจะชื่นชมเขาอย่างจริงใจ เห็นด้านดีของเขา เห็นความเป็น Hero ในตัวเขา และมองข้ามความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ

ส่วน Inquiry หมายถึงการเข้าถึง เช่น การอ่านหนังสือเป็นการเข้าถึงความรู้ที่ต้องการ ดังนั้นเมื่อเอาสองคำมารวมกัน ย่อมหมายถึงการเข้าถึงอย่างชื่นชม หรือมีคนแปลเป็นไทยให้ยากขึ้น เช่น สุนทรียสาธก ซึ่งคงไม่เหมาะที่จะไปทำอะไรให้เข้าใจยากยิ่งขึ้น

วิธีการคิดแบบ AI. หรือ Appreciative Inquiry จึงเป็นการเริ่มต้นที่การสร้างสรรค์ (Constructive) มากกว่าการทำลาย (Destructive) และเป็นไปในเชิงบวก (Positive) มากกว่าเชิงลบ (Negative)

เขาแนะว่า หากลองสร้างเป็นแผนภาพ โดยเอาแกน X เป็นแกนทัศนคติ ซ้ายลบขวาบวก เอาแกน Y เป็นแกนของการสร้างสรรค์ ด้านบนสร้างสรรค์ ด้านล่างไม่สร้างสรรค์ ก็จะเกิดพื้นที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

AI.png

ในพื้นที่ 4 ส่วน จากการตัดกันของเส้นแกน จำแนกคนออกเป็น 4 ประเภท คือ
คนประเภทที่ 1 เราเรียกนักเผด็จการ (The dictator) คนที่ติดอยู่ในกรอบความคิดแบบนี้มักจะมีประโยคประจำตัวคือ “ไม่” (No) ใครถามอะไร เสนออะไร ที่ไม่ตรงใจตน ก็จะ “ไม่”สั้นๆอย่างเดียว ไม่คิดจะอธิบายอะไรให้คนอื่นเข้าใจ เพราะฉันคือเจ้าขององค์การ ดังนั้นเมื่อฉัน “ไม่” ก็ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลใดๆ เข้าใจหรือเปล่า

คนประเภทที่ 2 เราเรียกเขาว่าเป็น คุณครู (School teacher) มีประโยคประจำตัวเช่นกันว่า “ไม่ ความคิดนี้ยังไม่เข้าท่าเพราะว่า……” (No, the idea isn’t good because…..) บุคคลประเภทนี้ยังเชื่อว่าตนเองรอบรู้ รู้ดีกว่าคนอื่น เหมือนคุณครูที่คิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าลูกศิษย์ ดังนั้นใครพูดอะไรที่ไม่ตรงใจตัว ก็จะบอก “ไม่”เช่นกัน แต่ยังมีความเป็นครูที่จะพยายามอธิบายในเหตุผลว่าทำไมจึง “ไม่” อันนี้ดูดีขึ้นมาหน่อย

คนประเภทที่ 3 เป็นพวกนักจับผิด (Fault-finder) ประโยคประจำตัวของเขาคือ “ความคิดนี้ก็ดี แต่ว่า……” (The idea is good , but…….) วิธีการพูดดังกล่าวแม้จะเป็นบวก แต่ก็ไม่สร้างสรรค์ เพราะผู้พูดยังมีความเป็นอัตตาสูง เชื่อมั่นในความคิดของตนแต่ฝ่ายเดียว แต่มีวิธีการในการพูดให้อ่อนโยน ให้ไม่เกิดการต่อต้าน เช่น “พร้อมเลือกตั้ง แต่ยังไม่ถึงเวลา” ดังนั้น จึงเป็นคนประเภทที่มีลีลา แต่แสวงหาจุดอ่อนทางความคิดของผู้อื่นมาโต้แย้ง เป็นพวกนักจับผิดตัวยง

คนประเภทที่ 4 เป็นพวก AI. หรือพวกที่มีทัศนคติในเชิงบวกและสร้างสรรค์ ประโยคประจำตัวของเขาคือ “ได้ และผมคิดว่าควรจะมีอะไรเพิ่มเติมอีก คือ……..” (Yes , and we could also……) การมีความคิดและสื่อสารออกมาด้วยวิถีดังกล่าว ถือว่าเป็นการนำเสนอที่สร้างสรรค์และสามารถสร้างความชื่นชมแก่คู่สนทนา เวลาผู้ใต้บังคับบัญชาเสนออะไรขึ้นมา ก็ไม่รีบปฏิเสธเขาแต่ยังจะช่วยต่อเติมเสริมแต่งให้เกิดความงอกงามทางปัญญา หัวหน้าประเภทนี้ก็จะเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องอยากเข้าพบ อยากช่วยกันเสนอแนะความคิดใหม่ๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงาน เพราะเมื่อเข้าหาจะได้รับการส่งเสริมและกลับออกมาด้วยความรู้สึกที่ดีว่าความคิดที่เสนอนั้นได้รับการยอมรับจากผู้บังคับบัญชา

เลิกพูดคำว่า ไม่”
เลิกพูดว่า “ไม่ เพราะว่า…….”
เลิกเสียทีกับคำพูดที่ว่า “ได้ แต่ว่า…..”

วันนี้ต้องเริ่มพูดคำว่า “ได้ และควรเพิ่มเติมให้ดีขึ้นด้วย………”
เพราะทุกความคิดของทุกคนล้วนแต่เป็นความคิดที่ดี และสามารถทำให้ดีขึ้นได้หากช่วยกันแต่งเติมในสิ่งที่มีคุณค่าเพิ่มเข้าไป วันนี้ ต้องคิดบวกและสร้างสรรค์ครับ

คิดกลับทาง แสงสว่างก็ปรากฏ

สิ่งที่นักบริหารมักประสบปัญหาคือ การตกอยู่ในกับดักความคิดแบบเดิมๆไม่สามารถสร้างสรรค์วิธีการคิดใหม่ๆเพื่อทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ประสบหรือเดินหน้าสู่การแสวงหาความได้เปรียบในทางธุรกิจใหม่ๆได้ มีเครื่องมือหนึ่งในการบริหารที่ดูออกจะพิลึกพิลั่น คือการเสนอให้รู้จักการคิดกลับทาง (Reverse assumption) หรือลองคิดในมุมมองตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เขายกตัวอย่างให้เห็นว่า การติดอยู่ภายใต้วิธีการคิดแบบเดิมๆจะไม่สามารถคิดสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นได้เลย แต่หากเราคิดในเชิงตรงกันข้าม ในสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น จะเป็นการสร้างสิ่งใหม่ที่ประสบความสำเร็จขึ้นได้
หากติดกับดักว่า นาฬิกาต้องมีเข็ม ป่านนี้นาฬิกาดิจิตอลต่างๆคงไม่เกิดขึ้น
หากเชื่อเพียงแค่ว่า จะซื้อของต้องใช้เงินสด ระบบบัตรเครดิตต่างๆคงไม่มีในโลกนี้
หากคิดว่า การแก้ปัญหาสายตาต้องใส่แว่นเท่านั้น คงไม่มีคอนแทคเลนส์ที่ติดกับดวงตามาใช้

เช่นเดียวกัน หากคิดว่าการนำข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ต้องผ่านการจิ้มคีย์บอร์ดเท่านั้น คงไม่มีจอทัชสกรีน หรือระบบการสั่งการด้วยเสียงมาใช้ในการทำงาน

ตัวอย่างเหล่านี้ เป็นการให้เห็นว่า การคิดกลับทาง ช่วยให้เกิดมุมมองเพื่อไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ๆไม่รู้จบ

ในหนังสือ Thinkertoys ซึ่งเป็นคู่มือของการคิดเชิงสร้างสรรค์ที่เขียนโดย ไมเคิล ไมแชลโค (Michael Michalko) ยกตัวอย่าง การคิดแบบกลับทางไว้อย่างน่าสนใจ โดยเริ่มจากโจทย์การเปิดร้านอาหาร
สมมติฐานเดิม (old assumption) ของร้านอาหาร คือ
1) ร้านอาหารต้องมีเมนู
2) ร้านอาหารต้องเก็บเงินค่าอาหาร
3) ร้านอาหารต้องมีอาหารขาย
เขาบอกว่า ลองคิดกลับทาง (reverse assumption) ดูสิ จะได้ มุมมองประหลาดๆเช่น
1) ทำร้านอาหารที่ไม่ต้องมีเมนู
2) ทำร้านร้านอาหารที่ไม่เก็บเงินค่าอาหาร
3) ทำร้านอาหารที่ไม่ขายอาหาร

ฟังดูตอนแรก ดูเหมือนสุดจะเพี้ยน เพราะทุกประเด็นล้วนแทบไม่เคยเกิดขึ้น หรือ ไม่ใช่แนวทางใดๆของการประกอบธุรกิจร้านอาหารเลย

แต่เมื่อได้ความคิดที่กลับทางแล้ว เขาบอกให้ลองคิดต่อถึงวิธีการที่เป็นไปได้เพื่อให้ความคิดดังกล่าวเป็นจริง ดังนั้น คำตอบของเรื่องนี้ จึงกลายเป็นแนวคิดใหม่ๆในการทำร้านอาหารดังนี้

1) ร้านของเราไม่มีเมนูอาหาร ใครเข้ามาร้าน เชฟของเราจะไปอธิบายว่าวันนี้มีวัตถุดิบอะไรบ้าง และร่วมกันคิดกับลูกค้าว่าจะทำอะไรทาน เครื่องปรุงก็เลือกตามใจชอบของลูกค้า เสร็จแล้วอาจตั้งชื่อเป็นเมนูพิเศษของลูกค้าแต่ละคนให้เป็นที่ระลึก

2) ร้านนี้ก็จะไม่เก็บเงินค่าอาหาร แต่อาจเก็บตามเวลาที่ใช้ในการนั่งรับประทานเป็นนาที โดยอาจมีอาหารให้นั่งทานเต็มที่ในช่วงเวลาที่คิดเงิน

3) ร้านนี้ตกแต่งสถานที่ให้น่าเป็นที่มารับประทานอาหารอย่างมีความสุข โดยคิดค่าใช้จ่ายเป็นค่าสถานที่ ส่วนอาหารนั้นแต่ละคนไปหากันมาทานเอง ร้านเป็นเพียงให้สถานที่คนมาพบปะสังสรรค์ทานอาหารร่วมกัน
ผมอ่านดูก็รู้สึกแปลก คิดว่ามีความเป็นไปได้และไม่ได้ที่จะทำตามสิ่งที่คิดใหม่ แต่ก็เป็นการคิดกลับทางในมุมที่ไม่เคยเกิด แปลก แต่น่าสนใจ

รถยนต์ที่ไม่มีคนขับ Google ก็ยังทำรถต้นแบบ Waymo ออกมาแล้ว ใครจะไปรู้ ประเทศไทยวันหนึ่งข้างหน้า ไม่ต้องมีเลือกตั้งก็มีนายกได้ก็ได้

ไอเซนฮาวร์ เมตริกซ์

ดไวท์ ดี ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) นายพลห้าดาวผู้นำทัพสัมพันธมิตรจนชนะการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง และกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐอเมริกาจากพรรครีพับลิกันและชนะเลือกตั้งถึงสองสมัย (1953-1961) นอกจากโลกจะรับรู้ถึงความเป็นผู้นำทางการทหารที่เฉียบขาดในการรบและผู้นำประเทศที่ประชาชนสหรัฐอเมริกายกย่องแล้ว ในด้านมุมมองการให้แง่คิดทางการบริหารยังเป็นที่ยอมรับในแวดวงการจัดการอีกด้วย

วาทะไอเซนฮาวร์ (Eisenhower’s Quotes) หลายชิ้นมักจะถูกหยิบยกมาเป็นแง่คิดในการบริหาร อาทิ “การจูงใจคือศิลปะในการให้ผู้คนกระทำในสิ่งที่เราต้องการด้วยเหตุว่าเขาต้องการกระทำสิ่งนั้นเอง” (Motivation is the art of getting people to do what you want them to do because they want to do it.) “ในการเตรียมการรบ ข้าพเจ้าพบเสมอว่าแผนการต่างๆที่เตรียมไว้ล่วงหน้ามักไม่เกิดประโยชน์ แต่การวางแผนก็ใช่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้” (In preparing for battle I have always found that plan are useless, but planning is indispensable) ด้วยเหตุนี้ ตัวอย่างที่เป็นแบบอย่างการบริหารหรือพัฒนาเป็นโมเดลการบริหารที่น่าสนใจจากรัฐบุรุษผู้นี้จึงถูกยกมากล่าวเนืองๆ

ไอเซนฮาวร์ แมทริกซ์ (Eisenhower’s Matrix) หรือตารางการจัดลำดับความสำคัญของงาน หรือบางคนเรียกเป็นตารางการจัดการเวลา (Time Management Matrix) ประกอบด้วยตารางขนาด 2×2 โดยเอาคีย์เวิร์ดสองคำ คือ สำคัญ (Important) และ เร่งด่วน (Urgent) มาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งประเภทของงานว่าควรทำสิ่งใดก่อนสิ่งใดหลัง เป็นเรื่องง่ายแต่กลับน่าสนใจยิ่งและสามารถนำไปประยุกต์กับชีวิตคนชีวิตงานไม่ว่าจะเป็นงานเอกชนหรือภาครัฐได้อย่างลงตัว

Screenshot_20191001-184419_Google

1. สำคัญ / เร่งด่วน 》》 Do
2. สำคัญ / ไม่เร่งด่วน 》》 Decide
3. ไม่สำคัญ / เร่งด่วน 》》 Delegate
4. ไม่สำคัญ / ไม่เร่งด่วน 》》Delete

ตารางแบ่งออกเป็นสี่ช่อง ช่องแรกคืองานสำคัญ/เร่งด่วน (Important & urgent) ช่องที่สองคือ งานสำคัญแต่ไม่เร่ง (Important, but not urgent) ช่องที่สามคือ ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน (Urgent, but not important) และ ช่องสุดท้ายช่องที่สี่ ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน (Not important, not urgent)

การรบชนะในศึกสงครามก็ดี การประกอบธุรกิจให้เหนือคู่แข่งก็ดี หรือการใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จก็ดี ต้องรู้จักลำดับก่อนหลังในการทำงาน หากเรื่องใดที่แยกแยะแล้วว่าเป็นทั้งงานสำคัญและเร่งด่วน สิ่งนั้นควรอยู่ในลำดับแรกของการทำงาน นั่นคือ Do it now! ในขณะที่เรามักจะสับสนกับงานประเภทที่สองและสาม ระหว่าง สำคัญแต่ไม่เร่ง กับ เร่งแต่ไม่สำคัญ ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะหลงไปทำงานเร่งที่ไม่สำคัญและละเลยที่จะทำงานสำคัญแต่ไม่เร่ง ในกรณีนี้ ไอเซนฮาวร์บอกว่า ต้อง สองก่อนสาม โดยงานสำคัญแต่ไม่เร่งควรต้องถูกจัดใส่ในกำหนดการ (Decide to Schedule) เริ่มลงมือทำ เพราะจะเป็นรากฐานสำคัญของการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ในขณะที่ งานเร่งแต่ไม่สำคัญ ควรมอบหมาย (Delegate) ให้แก่ผู้อื่นไปทำแทนได้ ส่วนงานประเภทที่สี่ คือ ไม่สำคัญและไม่เร่ง ทิ้งมันได้ก็รู้จักทิ้งมันซะ (Delete) อย่าให้รกในตารางการทำงานเลย

นักบริหารที่เอาแต่ประชุมตั้งแต่เช้าถึงเย็น จนบอกว่าไม่มีทำงาน อาจต้องไตร่ตรองใหม่ว่าเป็นการประชุมที่สำคัญหรือไม่ หรือสามารถมอบหมาย หรือ delegate ให้ผู้อื่นไปประชุมแทนจะได้มีเวลาไปคิดในเรื่องกลยุทธ์มากขึ้น หรือหากงานเปิดป้ายเปิดประชุม อ่านคำกล่าวเปิดงานที่ร่างโดยลูกน้องเป็นกิจวัตรเป็นงานประเภทไม่สำคัญไม่เร่งด่วน จะ delete ออกไปบ้างก็คงไม่เสียหายอะไร ท่านจะได้มีเวลาในการสร้างสรรค์องค์การหรือตัดสินใจในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อองค์การมากขึ้นโดยการไปคิดไปทำสิ่งที่เป็นรากฐานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เช่น การจัดโครงสร้างองค์การ การจัดระบบบริหารงานที่เป็นธรรมาภิบาล จัดระบบการจูงใจให้พนักงานทุ่มเทอุทิศให้กับองค์การ และหากท่านทำงานประเภทนี้ได้มากขึ้น งานประเภทที่หนึ่งที่สำคัญเร่งด่วนเป็นไฟจี้ก้นตลอดเวลาจะลดน้อยถอยลงเองในอนาคต

หลักการบริหารเวลาแบบง่ายนี้ ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในเจ็ดข้อของอุปนิสัยแห่งความสำเร็จ (7 Habits) ที่ Stephen Covey เขียนไว้ ซึ่งนักบริหารหลายคนอ่านแล้วนำไปปฏิบัติตามอย่างได้ผล กล่าวกันว่า Warren Buffett นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ก็ใช้วิธีการทำงานโดยให้ความสำคัญแก่งานที่เป็นอันดับต้นของรายการที่ต้องทำ (begin with the task at the top of the list) และทำอะไรแล้วค่อยขีดฆ่ารายการที่ทำเสร็จออกไปและเริ่มงานลำดับถัดไปในรายการ

ลองสำรวจตนเองสิครับเป็นอย่างนี้หรือไม่ เรื่องไม่เป็นเรื่องกลับทำได้ทำดี เรื่องที่สำคัญจำเป็นต้องทำกลับปล่อยค้างไม่ทำเสียทีหรือไม่ จัดรายการเสียใหม่ตั้งแต่วันนี้ นี่คือ Important & Urgent ครับ