กลยุทธ์แบบกลับตัว (Turn around Strategy)

อันนี้ไม่ใช่กลับตัว กลับใจเป็นคนดี  หรือเปลี่ยนจากไพร่เป็นรัฐมนตรี แต่ประการใด

จำได้ว่า ผมรู้จักคำว่า turn around ครั้งแรก  เมื่อไปอเมริกา เมื่อสัก 25 ปีก่อน  ไปหาซื้อเครื่องสำอางให้ผู้บังคับบัญชา แต่คนขายเขาแนะนำผมว่า ผมควรซื้อให้ตัวเองด้วย และ หยิบ turn around cream มาแนะนำ  ผมก็เลยซื้อมาอย่างงงๆ

เจออีกครั้ง ที่ร้านแมคโดแนล  เขียนแนะนำอาหารใหม่ turn around pie หรือ ขนมพายที่ทำสุกทั้งสองด้าน กลับไปกลับมานั่นเอง

ความหมายของ turn around strategy หรือกลยุทธ์การกลับตัวนั้น หมายถึงการคิดค้นวิธีการในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด  เพื่อให้อยู่รอดหรือสามารถทะยานขึ้นอีกครั้งหนึ่ง      ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่องค์การทุกองค์การจะสามารถทำได้  และต้องอาศัยการคิดนอกกรอบแบบสุดๆ

โปรเฟสเซอร์ญี่ปุ่น เคยเล่าให้ผมฟังว่า บริษัทขายเครื่องเขียนแห่งหนึ่ง ชื่อ Askul  เคยเกือบจะเจ๊ง แต่พอกลับตัว จับคู่ธุรกิจกับบะหมี่น้ำ  ก็ทะยานขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง  ยอดขายเพิ่มขึ้น  เพราะสั่งบะหมี่น้ำก็จะนึกถึงเครื่องเขียน  คนจะสั่งเครื่องเขียน จะนึกถึงบะหมี่น้ำ (ไม่รู้มันไปเกี่ยวกันได้อย่างไร)

ปั๊มน้ำมัน ปตท. ที่เคยเป็นรองบ่อน ปั๊มน้ำมันต่างประเทศทั้งหลาย  พอรู้จักจับคู่ธุรกิจกับ 7-11 และ มุ่งปรับปรุงห้องน้ำให้สะอาด  เดี๋ยวนี้กลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของการเดินทาง  รถเกือบทุกคัน จะแวะพัก และเติมน้ำมันที่ ปตท.

สายการบินโลว์คอส ซึ่งคนไม่กล้านั่ง ใช้กลยุทธ์กลับตัว  ทำเป็นบูติคแอร์ไลน์  จัดที่นั่งรอเทียบเทียมเลาน์  กลายเป็นสายการบินที่คนนิยมสูงขึ้นทันตา  ตรงข้ามกับการบินของชาติที่ไม่รู้จักปรับตัวใดๆ หรือจะต้องรอให้เลวร้ายสุดก่อนจึงค่อยหาวิธีการปรับตัว

แต่สำหรับ ข้าราชการ นักการเมือง ที่เปลี่ยนสี เปลี่ยนพรรค  เปลี่ยนขั้ว ไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าใช้กลยุทธ์กลับตัวได้หรือไม่  หรือควรจะเรียกอย่างไรดี

อ้อ  ก่อนจบ เกือบลืมไปว่า หลังจากที่ผมซื้อ turn around cream  ตามคำแนะนำของพนักงานขาย  หอบกลับประเทศแบบงงๆ  พอถึงเมืองไทย  ผมมาเปิดดิกชันนารี  ถึงรู้ความหมาย ว่าแปลว่า  “ไปเกิดใหม่ซะ”

เผยแพร่โดย

somchaisr

สมชัย ศรีสุทธิยากร นักรัฐศาสตร์ สอนวิชาบริหาร กลยุทธ์ การวิจัย เป็นกรรมการองค์กรอิสระ ช่างภาพ เขียนบทกวี แปลเพลง แสวงหาแหล่งท่องเที่ยว และอาหารอร่อย นำประสบการณ์บางส่วนมาร่วมแบ่งปันในเว็ปเล็กๆที่จัดการด้วยตนเองอย่างง่ายๆนี้

ใส่ความเห็น